Astronautical Engineering คืออะไร?
วิศวกรรมอวกาศ หรือ Astronautical Engineering เป็นสาขาที่พัฒนามาจากวิศวกรรมการบิน หรือ Aeronauctical Engineering โดยที่วิศวกรรมอวกาศจะศึกษาเกี่ยวกับยานพาหนะที่ใช้งานในอวกาศนอกชั้นบรรยากาศโลก เช่น ดาวเทียม จรวด หรือสถานีอวกาศ
แตกต่างจากวิศวกรรมการบินอย่างไร
วิศวกรรมอวกาศ (Astronautical Engineering) และวิศวกรรมการบิน (Aeronautical Engineering) มีความแตกต่างกันในเรื่องขอบเขตการศึกษา:
- วิศวกรรมการบิน จะออกแบบและพัฒนาเครื่องบินที่ใช้งานภายในชั้นบรรยากาศของโลกที่ยังมีแรงโน้มถ่วงและมีแรงต้านอากาศอยู่ เช่น เครื่องบินโดยสารและเครื่องบินทหาร
- วิศวกรรมอวกาศ จะออกแบบและพัฒนายานอวกาศที่ใช้งานนอกชั้นบรรยากาศของโลกที่แรงโน้มถ่วงจะแตกต่างจากในชั้นบรรยากาศโลก นอกจากนี้ในอวกาศยังไม่มีแรงต้านอากาศเหมือนในชั้นบรรยากาศโลกอีกด้วย ทั้งสองสาขามีหลักสูตรที่ซ้อนทับกันในด้านพื้นฐาน เช่น พลศาสตร์ และการออกแบบเชิงกล แต่จะแตกต่างกันในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้งานที่เฉพาะเจาะจงตามความต้องการของแต่ละสาขา
วิศวกรรมอวกาศ เรียนอะไรบ้าง
น้องๆ ที่เลือกเรียนคณะวิศวกรรมอวกาศ (Astronautical Engineering) จะได้เรียนวิชาต่างๆ เกี่ยวกับพื้นฐานการออกแบบอุปกรณ์ที่ต้องส่งออกไปใช้งานนอกชั้นบรรยากาศโลก ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของวิชาที่น้องๆ จะมีโอกาสได้เจอหากเลือกเรียนในสาขานี้:
- Astrodynamics – เรียนเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของวัตถุในอวกาศและที่อยู่นอกเหนือแรงโน้มถ่วงโลก
- Spacecraft Design – เรียนเกี่ยวกับหลักการออกแบบยานอวกาศ รวมทั้งระบบย่อยต่างๆ ภายในยาน
- Propulsion Systems – เรียนเกี่ยวกับระบบขับเคลื่อนที่ใช้ในอวกาศ ทั้งเคมีและไฟฟ้าที่อาจจะมีความแตกต่างจากเครื่องบินทั่วไป
- Satellite Communications – เรียนเกี่ยวกับหลักการสื่อสารผ่านดาวเทียมและการออกแบบระบบสื่อสาร
- Structural Mechanics – เรียนเกี่ยวกับการวิเคราะห์และออกแบบโครงสร้างที่ต้องทนต่อสภาพแวดล้อมในอวกาศ
- Thermal Control Systems – ศึกษาเกี่ยวกับการควบคุมอุณหภูมิภายในยานอวกาศ
นอกจากนี้ยังมีวิชาเฉพาะด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานเทคโนโลยีในอวกาศอีกมากมาย เช่น Remote Sensing, Space Operations และ Robotics เป็นต้น โดยวิชาที่ได้เรียนก็จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง
แนวโน้มในอนาคต
ด้วยการขยายตัวของอุตสาหกรรมอวกาศและการสำรวจอวกาศที่เพิ่มมากขึ้น องค์กรเอกชนและหน่วยงานรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกกำลังลงทุนในโครงการสำรวจอวกาศ การพัฒนาดาวเทียม และภารกิจส่งยานไปยังดาวเคราะห์อื่นๆ ทำให้มีความต้องการสูงสำหรับวิศวกรที่มีความสามารถในการออกแบบ ก่อสร้าง และบำรุงรักษาเทคโนโลยีอวกาศที่ซับซ้อน ส่งผลให้สายอาชีพนี้กลายเป็นอีกหนึ่งสายอาชีพที่น่าจับตามองในอนาคต
เรียนวิศวะอวกาศทำงานในไทยได้ไหม
ปัจจุบันประเทศไทยได้เริ่มให้ความสนใจในเทคโนโลยีอวกาศมากขึ้น โดยเรามีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาในด้านการบินและอวกาศ ตัวอย่างเช่น:
- สำนักงานพัฒนาวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (NRCT – National Research Council of Thailand): เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาในหลากหลายด้าน รวมถึงด้านการบินและอวกาศ
- สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA – National Innovation Agency): เป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมและสนับสนุนนวัตกรรมในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงด้านการบินและอวกาศ
- หน่วยงานอวกาศแห่งชาติไทย (GISTDA – Geo-Informatics and Space Technology Development Agency): เป็นหน่วยงานหลักของประเทศไทยที่ดูแลด้านการพัฒนาและการใช้งานเทคโนโลยีด้านธรณีสารสนเทศและอวกาศ
เรียนวิศวกรรมอวกาศทำงานอะไร
หลังจากจบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมอวกาศ (Astronautical Engineering) สาขานี้เปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถทำงานในหลากหลายตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและพัฒนายานอวกาศ ดาวเทียม และระบบขับเคลื่อนอวกาศ ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างอาชีพที่สามารถทำได้หลังเรียนจบ:
- Systems Engineer: ทำหน้าที่จัดการและประสานงานระหว่างทีมต่าง ๆ ในการพัฒนาระบบอวกาศ
- Propulsion Engineer: ทำหน้าที่ออกแบบและพัฒนาเครื่องยนต์สำหรับยานอวกาศ
- Satellite Communications Engineer: ทำหน้าที่ดูแลการออกแบบและการทำงานของระบบการสื่อสารด้วยดาวเทียม
- Mission Analyst: ทำหน้าที่วิเคราะห์และวางแผนงานที่เกี่ยวข้องการส่งดาวเทียมต่างๆขึ้นสู่อวกาศต่าง
- Aerospace Safety Engineer: ทำหน้าที่พัฒนามาตรฐานความปลอดภัยสำหรับการทำงานในอวกาศ
นอกจากนี้ยังมีโอกาสทำงานในหน่วยงานการบินและอวกาศของรัฐบาลหรือองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอวกาศอีกด้วย